เขาแหลมรัตนมุนี เพชรเม็ดดี แห่งอีสานใต้
“นมัสการพระสังกัจจายน์อันศักดิ์สิทธิ์ ชื่นชมบ่อน้ำอมฤต พิชิตยอดผา ชมวิวทิวทัศน์ประเทศกัมพูชา ปวงชนศรัทธาเลื่องลือคือเขาแหลม”
สภาพภูมิศาสตร์ ตลอดแนวชายแดนอีสานใต้ สันเขาที่โผล่ขึ้นมาแนวสันเขาเป็นแนวเดียวกันกับเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าจะพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เขาแหลมเป็นสถานที่ที่น่าท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์อันสวยงาม ประดุจดั่งเพชรเม็ดงามของชาวกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เขาแหลมรัตนมุนีตั้งอยู่ระหว่าง หมู่ที่ 1 บ้านแนงมุดและหมู่ที่ 11 บ้านโคกเบง ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากถนนสายหินโคน – ตาเมียง ไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรัง จากด้านทิศตะวันออกของสถานีตำรวจภูธรตำบลแนงมุด และอยู่ห่างจากชายแดนประเทศกัมพูชาประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยดี ลักษณะเป็นเขาหินทรายลูกเดียวตั้งอยู่โดดเดี่ยว โดยมีลักษณะเป็นยอดแหลม สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 800 เมตร มีป่าไม้นานาพรรณขึ้นปกคลุมอย่างสมบูรณ์ บนยอดเขาเป็นที่ราบมีเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร
ประวัติความเป็นมา เขาแหลมรัตนมุนี เริ่มมีความสำคัญและเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2513 โดยมี หลวงพ่อริม รัตนมุนี เจ้าอาวาสวัดทุ่งมน ได้มาตั้งสำนักสงฆ์ชั่วคราวที่ยอดเขาแหลม เพื่อบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติธรรม ซึ่งญาติโยมผู้ใกล้ชิดบางคนกล่าวว่าหลวงพ่อมาอยู่เพื่อค้นหาสิ่งศักด์สิทธิ์บางอย่าง (เหล็กไหล) โดยมีกองร้อย ตชด.ที่ 2 นำโดย ร.ต.ท. ไพ แก้วมณี (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ให้การสนับสนุน ดูแล อุปถัมภ์ ประมาณ พ.ศ.2517 หลวงพ่อริมและญาติโยม ได้จัดประเพณีขึ้นที่เขาแหลมเป็นครั้งแรก ซึ่งมีประชาชนไปร่วมงานเป็นจำนวนมากทั้งๆที่การคมนาคมไม่สะดวก (ทางเกวียน) หลังจากนั้นทางกัมพูชาเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศ มีปฏิวัติรัฐประหารเปลี่ยนการปกครองในประเทศ เขาแหลมถูกตั้งเป็นกองบัญชาการกู้ชาติของเขมรปารา (ปารา ภาษาฝรั่งเศษแปลว่า ลายพราง (เขมรที่อาศัยอยู่ที่นี่แต่งชุดพราง)) คนไทยอาศัยอยู่ไม่ได้ มีแต่คนเขมรและทหารเขมรกู้ชาติอาศัยอยู่ เขาแหลมถูกทิ้งและรกร้างว่างเปล่า ขาดการดูแลเนื่องจากผู้คนหวาดกลัว จนกระทั่ง ปี 2536 พระครูพนมศีลาจาร (พระอาจารย์วสันต์) วัดป่าเขาโต๊ะ ได้นำพระลูกวัดเดินธุดงค์มาพบเห็นเขาแหลม เป็นสถานที่อันสันโดษ วิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาปฏิบัติธรรม จึงได้ปรึกษากับผู้นำในท้องถิ่น ประชาชน และพระลูกวัด จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นโดยหมอบหมายให้พระวาสนา (หลวงตาแอ็ด) เป็นเจ้าอาวาส หลวงตาแอ็ดได้ปรับปรุงพัฒนาสำนักสงฆ์จนมีความสมบูรณ์ขึ้นระดับหนึ่ง มีถนนเข้าสำนักสงฆ์สะดวกสบาย ตั้งชื่อสำนักสงฆ์ว่า “สำนักสงฆ์เขาแหลมรัตนมุนี” ซึ่งเป็นมงคลนาม แปลว่า สำนักสงฆ์เขาแหลมที่มีนักบวชผู้ประเสริฐอาศัยอยู่ หลวงตาแอ็ด เป็นพระนักพัฒนา ท่านพูดเสมอว่า “อาตมามาอยู่ตรงนี้เพื่อสร้างเขาแหลม ให้เป็นป่าสมบูรณ์ ญาติโยมที่มาเที่ยวเขา อย่าทำลายต้นไม้ สัตว์ป่า จงช่วยกันอนุรักษ์และดูแลรักษา เวลาเดินทางกลับอย่านำต้นไม้ไปแม้แต่ตันเดียว รักษาไว้ให้ลูกหลานเถิด” วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบจันทรคติ) ของทุกปี ขอเชิญร่วมประเพณี “ขึ้นเขาแหลม”
สิ่งที่น่าสนใจในวัด
๑. ผารัตนมุนี เมื่อยืนบนหน้าผาแห่งนี้ จะได้สัมผัสกับอากาสที่บริสุทธิ์ ได้เห็นทิวทัศน์อันงดงามของประเทศกัมพูชา ชมซอกเขาและโขดหินอันสลับซับซ้อน เหมือนกับได้ยืนอยู่บนเป้ยตาดีแห่งเขาพระวิหารก็มิปาน ผารัตนมุนียังมีความมหัศจรรย์อีกหนึ่งอย่างที่ไม่ค่อยมีคนสังเกตเห็นก็คือ มีลักษณะคล้าย "ผาหำหด" ที่จังหวัดชัยภูมิมากที่สุด แต่ไม่น่าหวาดเสียวเท่า เพราะด้านหน้าของหน้าผามีต้นไม้ต้นหนึ่งโผล่ขึ้นด้านหน้า ทำให้ลดความหวาดเสียวตื่นเต้นลงไป
๒. บ่ออมฤต 2 บ่อ (บ่อน้ำทิพย์) เป็นบ่อน้ำที่อยู๋ริมหน้าผา อยู่ท่ามกลางหินก้อนใหญ่ มีน้ำไหลออกทั้งปี สูบออกก็ไม่แห้ง น่าอัศจรรย์นัก อยู่ห่างจากหน้าผาแค่ 5 เมตร ไม่น่าจะมีน้ำผุดขึ้นมาได้ คนโบราณถือว่าเป็นบ่อที่พญานาคทำไว้ หากท่านมีโอกาสได้ขึ้นมาเที่ยวแล้ว ต้องชมให้ครบ 2 บ่อ
๓. รอยพระพุทธบาท เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างใหม่ เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนาได้แผ่มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้ว
๔. ศาลพระพรหม อยู่ห่างจากโบสถ์ไปทางหน้าผาประมาณ 200 เมตร อยู่ระหว่างทางไปหน้าผารัตนมุนี เป็นจุดนั่งพักผ่อนก่อนเข้าสู่เขตเมืองลับแล และเป็นจุดชมวิวก่อนเข้าสู่เขตป่า
๕. หินอัศจรรย์ข้างศาลพระพรหม หินก้อนนี้อยู่ห่างศาลพระพรหมแค่ประมาณ 10 เมตร เป็นหินก้อนใหญ่ แยกออกมาจากก้อนเดิม มีลักษณะเอียง แต่ไม่ล้ม เพราะมีรากต้นไม้โอบอยู่ เมื่อมาถึงศาลพระพรหมแล้ว ควรมาดูหรือถ่ายภาพเป็นที่ระลึก (วิวสวยมาก)
๖. พระสังกัจจายน์ เป็นพระพุทธรูปใหม่ ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายเมื่อครั้งตั้งสำนักสงฆ์ใหม่ ๆ
๗. เทวรูปกษัตริย์เขมร ตั้งอยู่ริมหน้าผา เป็นสิ่งที่ทหารเขมรแกะสลักขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในยุคสงคราม (2518-2522) มองดูเผิน ๆ เหมือนกับเป็นพระพุทธรูป
๘. ต้นไม้นานาพรรณเถาวัลย์นานาชนิด ซึ่งแปลก ๆ หาดูได้ยาก ในช่วงต้นฤดูฝน (เมษายน-มิถุนายน) ชาวบ้านจะนิยมมาที่นี่เพื่อหาผักและผลไม้ของป่าเอาไปจำหน่าย
๙. กับระเบิด ที่นี่มีกับระเบิดที่ยังไม่กู้อยู่เป็นจำนวนมาก
๑๐. เมืองลับแล เมื่อเดินขึ้นเขาแหลมได้ประมาณ 200 เมตร จะเจอศาลพระพรหมระหว่างทาง ถัดจากศาลพระพรหมเข้าไป มองไปจะเป็นป่าทึบ เข้าเขตเมืองลับแล หรือเขตบังบด
ประเพณีขึ้นเขาแหลม ประเพณีขึ้นเขาแหลมรัตนมุณี เริ่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 และปี พ.ศ. 2533 สภาตำบลแนงมุด ได้เห็นความสำคัญและมีมติให้เขาแหลมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำตำบล มีนโยบายที่จะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ต่อมาทางวัดได้กำหนดให้ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เป็นประเพณีขึ้นไปนมัสการและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาแหลมอย่างเป็นทางการ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จึงเป็นวันที่มีความสำคัญต่อประชาชนชาวตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งประชาชน นักท่องเที่ยวทั่วไปเป็นวันที่ทุกคนรอคอย ที่จะร่วมประเพณีขึ่นเขาแหลม พบกับทิวทัศน์ที่สวยงาม หน้าผา ที่สูงชัน ชมทัศนียภาพของประเทศกัมพูชา ซึ่งจะมองเห็น แนวสันเขา และป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี ดื่มน้ำทิพย์ที่หลายคนเชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ นอกจากนี้ ยังจะได้ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรกันที่ยอดเขา การได้ไปเที่ยวที่เขาแหลม นอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังได้บุญได้กุศลอีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะขึ้นเขาแหลมตามประเพณีที่ทางสภาตำบลแนงมุดกำหนด เพราะติดภาระกิจต่าง ๆ ทางวัดได้กำหนดให้วันที่ 12 เมษายนของทุกปี เป็นวันขึ้นเขาแหลมอย่างไม่เป็นทางการ เพราะนอกจากจะเป็นวันหยุดแล้ว ยังเป็นวันสงกรานต์อีกด้วย