ที่ตั้งของปราสาทภูมิโปนเป็นบริเวณที่มีหลักฐานว่ามนุษย์ได้เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ดังปรากฏร่องรอยของคูน้ำ-คันดินรูปร่างไม่แน่นอนอยู่บริเวณโดยรอบชุมชน ต่อมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ชุมชนบ้านภูมิโปนพัฒนาเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง มีปราสาทภูมิโปนซึ่งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในศาสนาฮินดู เป็นศูนย์กลางของเมืองตามแบบวัฒนธรรมขอมโบราณในช่วงเวลานั้น
ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วย ปราสาทก่อด้วยอิฐ ๓ หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง ๑ หลัง โดยปราสาทอิฐหลังใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่ามีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า-ออกด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียง ๓ ชั้น บริเวณใต้หน้าบันของประตูทางเข้า-ออก สลักเป็นลายรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓) จากการขุดแต่งโบราณสถาน พบชิ้นส่วนศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ๑ ชิ้น ซึ่งเป็นตัวอักษรที่มีใช้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ นอกจากนี้ที่บริเวณปราสาทอิฐขนาดเล็กองค์เหนือสุด ซึ่งสภาพปัจจุบันเหลือเพียงฐาน กรอบประตู และผนังเล็กน้อย ได้พบเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย และทับหลังสลักจากหินทราย ภาพสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งนกประกอบวงโค้งที่มีวงกลมรูปไข่ ๓ วง ภายในวงกลมรูปไข่ น่าจะเป็นรูปบุคคล แต่ได้แตกหายไปหมดแล้ว ซึ่งลวดลายบนทับหลังและเสาประดับกรอบประตูนี้เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเมง อายุราว พ.ศ. ๑๑๘๐ – ๑๒๕๐ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาทภูมิโปนประมาณ ๕๐๐ เมตร พบบารายใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งบารายเป็นระบบชลประทานที่สำคัญมักพบทั่วไปในชุมชนวัฒนธรรมขอม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ ในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การสร้างบารายจะไม่ใช้วิธีการขุดลงไปในดินอย่างสระน้ำทั่วไป แต่เป็นการขุดดินมาก่อเป็นคันดินกั้นน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มีลำธารธรรมชาติไหลผ่าน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในชุมชนและยังอาจช่วยเรื่องปัญหาน้ำท่วมภายในชุมชนด้วยโดยทั่วไปบารายมักจะมีขนาดใหญ่กว่าสระน้ำ
ส่วนฐานโบราณสถานที่สร้างด้วยฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้ปรางค์ประธานนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน สันนิษฐานว่าปราสาทหลัง 2 และ 3 น่าจะสร้างในสมัยหลังต่อมา หลังจากสร้างปราสาทประธานก่อนแล้ว
ส่วนปราสาทอิฐห่างออกมาทางทิศเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน กรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน
ปราสาทภูมิโปนถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณหรือชุมชนโบราณที่มีระบบการปกครองแบบเมือง สังเกตได้จากบริเวณรอบ ๆ ปราสาทพบคูกำแพงเมือง เขื่อนดินโบราณ และสระน้ำ โดยเฉพาะน้ำเป็นระบบชลประทานถูกออกแบบมา มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สระลำเจียก สระตา สระกนาล สระตราว และสระปรือ ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนโบราณเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านภูมิโปน
นอกจากนี้ปราสาทภูมิโปนยังเชื่อมโยงเป็นตำนานเรื่องเล่าขานท้องถิ่น ตำนานปราสาทภูมิโปน “ เนียง ด็อฮฺ ธม ” ในตำนานกล่าวถึงกษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าชื่อว่า “ปราสาทภูมิโปน” ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิตเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระธิดาองค์นั้นพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม ในภาษาเขมร แปลว่า พระนางที่มีหน้าอกงามหรือพระนางนมใหญ่ ด้วยความงามของนางที่เลื่องลือไปทั่ว จึงเป็นที่หมายปองของพระราชาเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการพระนางมาเป็นพระชายา จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น เกิดเป็นโศกนาฏกรรมและทำให้บุรุษล้มตายเพราะนางมาก สุดท้ายพระนางศรีจันทร์ได้ตกไปเป็นมเหสีของกษัตริย์แห่งนครนายพราน (วยาธปุระ เมืองหลวงสมัยอาณาจักรฟูนันในอดีต) ก่อนนางจะจากไปได้ขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง พร้อมกับอธิษฐานว่า ถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่ภูมิโปน ขอให้ต้นลำเจียกอย่าได้ออกดอกอีกเลย ปัจจุบันสระลำเจียกยังคงมีต้นลำเจียกกอใหญ่หลายต้นและยังไม่มีดอกมาจนถึงทุกวันนี้
จากตำนานเป็นที่มาของชื่อปราสาท คำว่า ภูมิ ในภาษาเขมร แปลว่าหมู่บ้าน หรือดินแดน คำว่า โปน แปลว่าซ่อนตัวไม่ให้ใครหาพบ รวมกันจึงหมายถึงเมืองลึกลับ หรือที่ซ่อนรวบรวมกองทัพ ปัจจุบันตำนาน เนียง ด็อฮฺ ธม ยังคงเล่าขานเรื่อยมา กลายเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทภูมิโปนและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่จัดแสดงขึ้นทุกปี ผ่านการแสดงแสง สี เสียง ใน “งานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เพื่อเผยแพร่ให้ปราสาทภูมิโปนเป็นที่รู้จักมากขึ้น
คุณยังไม่ได้ลงชื่อเข้าใช้งานระบบ โปรดลงชื่อเข้าใช้งานระบบหากต้องการแสดงความคิดเห็น แชท หรือรีวิว หากคุณยังไม่ได้สมัครสมาชิก สามารถสมัครสมาชิกที่ ปุ่มด้านล่างค่ะ